วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2553

ขายมะม่วงอ่อน : จิตวิณญาณของไร่สินธนาทำมะม่วงมืออาชีพ

กุมภาพันธ์ เป็นเดือนที่พี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีน มีความสุข เนื่องมาจากเป็นช่วงตรุษจีน เป็นปีใหม่ที่ทุกคนหวังว่าอะไร ๆ จะดีขึ้น ขออำนาจคุณพระศรีรัตนไตร สิ่งศักสิทธิ์ที่ทุกท่านเคารพนับถือ จงดลบรรดาลให้ เกษตรกรทุกท่าน ผู้ส่งออก และผู้ที่เป็นแฟนประจำคลอลัมของผม “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ ฮวกใช้: ปีใหม่ขอให้ทุกอย่างสมหวัง ปีใหม่ขอให้ร่ำรวย, เจาไฉจิ้นเป้า: เงินทองไหลมาเทมา ทรัพย์สมบัติเข้าบ้าน, ฟู๋ลู่ซวงฉวน: ศิริมงคลเงินทองอำนาจวาสนา และ จู้หนี่เจี้ยนคัง: ขอให้คุณสุขภาพแข็งแรง” นะครับ!
เดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจากปีใหม่หยุดกันยาวหลายวัน สถานการณ์มะม่วงช่วงที่ผ่านมาดูไม่ค่อยราบรื่นเท่าที่ควร มีลูกค้า และคนที่สนิทชิดเชื้ออย่างน้อย 3 ท่าน โทรมาปรารภให้ฟัง น่าสนใจครับ! ลูกค้าที่มาเมืองไทย เล่าให้ฟังว่า มะม่วงที่ส่งเข้าไปมาเลย์ช่วงก่อนปีใหม่ และหลังปีใหม่ 1 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นราคาถูกกว่ามะม่วงในเมืองไทย เกลื่อนตลาดขายไม่ออก รายที่สองแจ้งมาจากเซี่ยงไฮ้ว่า มะม่วงวางกองเต็มไปหมดราคาถูก ขายไม่ออก รายที่3 แจ้งจากรัสเซีย มะม่วงเต็มตลาดราคาถูก จากนั้นผมก็ได้พูดคุย และวิเคราะห์ร่วมกัน ได้เหตุผล หลักอยู่ 3 ประการ คือ มะม่วงที่ขายไม่ได้ เป็นมะม่วงอ่อน ประการที่ 2 มะม่วงที่กองเกลื่อนไปหมดเป็นมะม่วงเกรดรอง ประการที่ 3 ช่วงที่ว่านี้อากาศหนาวจัด หิมะตก คนไม่ออกมาซื้อของ ทั้งยุโรป จีน รัสเซีย แม่น้ำเป็นน้ำแข็ง ลองมาดูเหตุผลแต่ละข้อดูซิว่าเกิดอะไรขึ้น กับมะม่วงน้ำดอกไม้ไทย!!!
มะม่วงอ่อน : ปัญหาที่เป็นมะเร็งขั้นสุดท้ายที่ยากต่อการเยียวยา ทำไม? ผมถึงกล่าวรุนแรงขนาดนั้น เพราะผมเห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้กับทุเรียนมาแล้ว ในปลายปี 2552 คาบเกี่ยวต้นปี 2553 ทุกพื้นที่มีปัญหา มะม่วงน้ำดอกไม้ ขาดช่วงอันเนื่องมาจาก ระหว่างเดือนกันยายนของปีที่แล้ว ฝนตกติดต่อในช่วงทำดอก ทำให้เกิดปัญหาหนัก ที่ผ่าฝนมาได้ก็เหลือเพียงนิดหน่อย อีกทั้งผิวพรรณลายไม่สวย เมื่อถึงช่วงปลายเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ ผู้ส่งออก ชาวสวนร่วมแรงร่วมใจกันเก็บ อ่อนแก่ไม่สนใจ เพราะราคาดี แถมผมยังไปเจอ พี่ท่านเก็บเอาหมด อ่อนลูกยังไม่เต็ม เม็ดยังไม่แข็ง มีดฟันยังขาด(ทดสอบแบบชาวบ้าน) ให้ราคาสูง เรื่องราคาสูงยังพอรับกันได้ แต่มะม่วงยังไม่แก่ ทำให้รสชาติไม่ได้มาตรฐานอันนี้รับไม่ได้ หลายต่อหลายบริษัทเปลี่ยนนโยบายเอาของให้ลูกค้า อ่อนชั่งมัน ไว้แก้กันข้างหน้า อันนี้ถือว่าขาดจิตสำนึก ขาดความรับผิดชอบด้วยกันทุกฝ่าย และเป็นยิ่งกว่ามะเร็งที่ทำร้ายอาชีพเกษตรผู้ปลูกมะม่วงชนิดร้ายแรงขั้นสุดท้าย หากยังคงเป็นอย่างนี้ ผมเชื่อว่าไม่เกินสามปีข้างหน้า เราจะพบกับจุดจบของมะม่วงน้ำดอกไม้ไทยครับ ขอเถอะครับมันไม่ทำให้ใครรวยเพิ่มสักเท่าไร ได้ไม่เท่าเสีย เล่นกับใครไม่เล่น เล่นกับผู้บริโภค แล้วจะเสียใจภายหลัง กลัวแต่คนที่ทำแล้ว...เลิกปลูกมะม่วง คนที่ส่ง...เลิกกิจการปล่อยให้เกษตรรุ่นหลัง ผู้ส่งออกรายอื่น ๆ ที่ตั้งใจทำ มีความรับผิดชอบ ต้องเจ็บปวดรับกรรมไปด้วยนานแสนนาน...
มะม่วงเกรดรอง : ดาบสองคมที่ต้องให้ความสนใจ หลายคนมองว่ามะม่วงเกรดรองเป็นทางออกที่ง่ายที่สุดที่ดีกว่าส่งแช่แข็ง เพราะผิวยังคงดีในระดับตลาดรองลงมา ราคาย่อมเยาว์ แต่ช่วงที่ผ่านมา มะม่วงเกรดรองที่ส่งไปตลาดเพื่อนบ้าน หลายคนมองว่าอะไรก็ได้ ขอให้เป็นมะม่วง อันนี้มองผิดครับ เพราะตลาดเพื่อนบ้านนั้นต้องการของถูก แต่ยังคงมีคุณภาพคือผิวยังรับได้รสชาติรับได้ เนื่องจากมะม่วงเกรดรองเกิด และอ้างอิงจากมะม่วงเกรดเอ เพราะหากคัดเกรดเอเพื่อส่งตลาดระดับสูง เกรดรองจะถูกคัดสรรเพื่อส่งตลาดมาเลย์โดยตรง หรือผ่านไปสิงคโปร์ หรือจีน ที่เป็นตลาดเกรดรอง เมื่อมะม่วงเกรดเอเก็บในลักษณะมะม่วงอ่อนไม่ถึง 75 % ลอยน้ำครึ่งลูกอะไรทำนองนี้ เกรดรองจะมีมหาศาลเนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว อย่างที่บอกช่วงออกดอกฝนตก ฉะนั้น ในช่างปลายปี และต้นปี กว่าจะได้มะม่วงเกรดเอ สัก 1 ตัน ต้องคัดมะม่วงทั้งหมดมากกว่า 10 ตัน แล้วมะม่วงเกรดรองที่สามารถส่งได้ ไม่น้อยกว่า 4 ตัน ทำให้ทะลักไปสู่ตลาดที่ว่ามหาศาล ไม่แปลกที่เห็นมะม่วงเกลื่อนตลาดเพื่อนบ้าน ที่สำคัญราคาขายถูกกว่าราคาต้นทุนที่ซื้อจากเกษตรกรเสียด้วยซ้ำ ลูกค้ามาจากมาเลย์คุยกับผม และถามผมว่า ทำไม? มะม่วงที่มาเลย์ถูกกว่าราคาที่สวนขายอีก มันเกิดอะไรขึ้น เขามองว่าผมขายของราคาแพง ทั้งหมดที่เล่าให้ฟังคือคำตอบครับ
อากาศหนาว : เป็นสาเหตุทำให้ยอดขายไม่เป็นไปอย่างคาดหวัง ปีนี้ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นรุนแรงนักวิชาการหลายคนออกมาสรุปตรงกันว่า สภาวะโลกร้อนทำให้อากาศเปลี่ยนแปลง แต่นักวิชาการบางกลุ่มก็ออกมาบอกว่าไม่ร้ายแรงขนาดนั้น สื่อนำเสนอทำให้เกิดความแตกตื่น ก็สุดแล้วแต่ใครจะมอง แต่ที่แน่ ๆ ในยุโรป อเมริกา จีน รัสเซีย หิมะตก อากาศหนาวเย็นจัด น้ำในแม่น้ำแข็งเดินเล่นได้ ส่งผลให้คนไม่ออกมานอกบ้าน ไม่จับจ่ายใช้สอย ที่สำคัญ คนทำมะม่วงต้องระวัง เรื่องของระดับความสุกงอม ที่เมื่อไปถึงแล้วไม่ยอมสุก ดังนั้น ผู้ส่งออกต้องศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ เรื่องมะม่วงอ่อนก็เป็นปัจจัยหลัก และถ้าอากาศหนาวเย็นยิ่งจะทำให้มะม่วงไม่สุกยิ่งไปกันใหญ่ ดีไม่ดีไม่ยอมสุก เน่าเสียก่อน ต้องระวัง ทางที่ดี คัดมะม่วงระดับความแก่ที่เหมาะสม และควรเก็บมาพักที่โรงคัดบรรจุในเมืองไทยอย่างน้อย 2 วัน และแจ้งให้ลูกค้าเข้าใจชัดเจนว่า เมื่อถึงแล้วควรเก็บไว้ในห้องอุณภูมิ ระหว่าง 20-24 ๐ C ให้สุกก่อนแล้วค่อยเอาไปส่งขาย สิ่งเหล่านี้เป็นเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ต้องรู้ให้คำปรึกษากับลูกค้า และเกษตรกรอย่างชัดเจน ให้เข้าใจตรงกัน แม้แต่ในเมืองไทยเองก็มักพบเจอ เมื่อซื้อมะม่วงมายังไม่สุก เก็บเข้าตู้เย็น หลายวันมารับประทาน ยังไม่สุก เปรี้ยว ในที่สุดเน่าเสียก่อนที่จะสุก อันนี้ต้องอธิบายให้เข้าใจว่า ควรวางข้างนอกให้สุก ก่อนรับประทานให้ใส่ตู้เย็นสัก 1-2 ชั่วโมง เอาออกมารับประทาน จะได้รสชาติหวานเย็นชื่นใจ และเมื่อรับประทานไม่หมดให้เอาหนังสื่อพิมพ์ห่อเก็บไว้ด้านล่าง อย่าไว้ชิดกับช่อง เยือกแข็ง อย่างนี้จะได้ลิ้มรสชาติมะม่วงที่แท้จริงครับ

ผมขึ้นหัวเรื่องว่า มะม่วงอ่อน:จิตวิณญาณของคนทำมะม่วงมืออาชีพ ที่ขึ้นอย่างนั้น เพราะผมได้รู้จัก หนุ่มสาวสองสามีภรรยา ที่เป็นทั้งผู้ผลิตมะม่วง และผู้รวมรวมมะม่วงซึ่งผมรู้จัก ติดตาม และมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กัน มานานกว่า 4 ปี ตลอดระยะเวลาที่รู้จัก ก็เห็นและรับรู้พัฒนาการที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ทั้งในด้านความขยันอดทน ความมุ่งมัน ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ และความมีวินัย ไฝ่รู้ จิตใจดีงาม จึงอดไม่ได้ที่จะหยิบมาเป็นตัวอย่าง และบอกกล่าวต่อสังคม ให้เห็นว่าคนที่ดียังมีอยู่ในสังคมอีกมาก พอดีครั้งนี้ผมได้รับคำเชิญจาก คุณอาทิตา ตุลยวานิช(จอย) และ คุณกิตติพล คณธิคามี(เดียร) ซึ่งตอนนี้ผันตัวเองมาผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองบนเนื้อที่ กว่า 150 ไร่ ผมมีโอกาสเข้าเยี่ยมเยียน(ก่อนคนอื่น) ในช่วงที่มะม่วงกำลังจะเก็บเกี่ยวได้ เดินดูอยู่สักสองชั่วโมง และเดินพูดคุณกับ คุณเดียร ในหลายประเด็น ก็ให้รู้ถึงจิตสำนึกที่ถูกฝึกอบรมมาอย่างดีสำหรับการเป็นเกษตรกรมืออาชีพ ที่นอกเหนือจากเป็นผู้รวบรวมมืออาชีพมาแล้ว
“เนื้อที่ค่อนข้างมากดูแลอย่างไรถึงได้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด” ผมเอ่ยถามขณะเดินสำรวจท่าม กลางอากาศเย็นสบายยามเลยเที่ยงวัน ต้นเดือนมกราคม
“ผมทำจริงครับพี่ ผมมีลูกน้องดี ขยัน และฉลาด และผมลงทำเอง คุมเอง” คุณเดียร กล่าวด้วยรอยยิ้มอย่างมั่นใจ และกล่าวต่อ
“ตัดแต่งกิ่ง การพ่นยา ใส่ปุ๋ย ผมเน้นเรื่องของความถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็วครับ เช่นพ่นยา ผมพ่นทั้งคืนจนเสร็จ ตอนกลางคืนลมไม่แรง อากาศไม่ร้อน ทำงานง่ายกว่ากลางวัน ทำให้เสร็จเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่อ้างโน้นอ้างนี้...ทำต้องทำให้เสร็จ ผลผลิตจะได้เป็นมาตรฐานเดียวกันหมด ผมแกะถุงไหนก็ได้ มาตรฐานเดียวกัน”
“ถูกต้องครับ ผมเห็นมามากแล้ว พอมีที่มาก ทำมาก ก็กลายป็นผู้จัดการ สั่งอย่างเดียว พนักงานรู้บ้างไม่รู้บ้าง ทำกันไปเรื่อยเปื่อย ผมเดินดูแล้ว เห็นว่า คุณเดียรตั้งใจ เอาจริงเอาจัง และที่สำคัญก่อนทำงานทุกครั้งต้องเรียกพนักงานใหม่มาซักซ้อมทำความเข้าใจ พนักงานเก่าก็ต้องบอกกล่าวย้ำเตือน สุดท้ายตัวเราต้องเฝ้าระวัง ตรวจสอบดูว่าเป็นไปอย่างที่เราสั่งหรือไม่...” ผมกล่าวเสริม และสบสายตาอย่างชื่นชม
“ครับผมทำอย่างที่พี่บอกนั่นละครับ ผมไม่ปล่อยครับ ลูกน้องเหนื่อย เราเหนื่อยด้วย ลูกน้องทำเราทำด้วย ลูกน้องหยุดเราหยุดด้วย ผมทำอย่างนี้มาตลอด และยึดเป็นแนวทางในการบริหารงานครับ”
“ผมเดินดูถุงที่ห่อ แล้วรู้สึกสบายใจ เพราะคุณห่อได้ดี ใช้ถุงใหม่ การห่อของคุณทุกห่อผมเห็นชัดว่ามีความละเอียดปราณีต ช่วงระหว่างขั้ว ที่มีก้านยาวคุณเอาออกไว้ด้านนอกหมด ทุกห่อคุณคัดเลือกผลที่สมบูรณ์ห่อ การห่อ สนิทแนบกับขั้วทุกผล การใช้ลวดที่ติดมากับถุงทำได้อย่างปราณีต และที่สำคัญคุณใช้ถุงใหม่ทั้งหมด นี่คือข้อได้เปรียบที่คุณมีเหนือคนอื่น....” ผมกล่าวชื่นชมพร้อมทั้งสุ่มแกะห่อออกดูมากพอสมควร ก่อนที่จะออกปากชม
“ผมให้ลูกน้องห่อไม่เกินสามวันเสร็จ และห่อเป็นแบบที่พี่ชฎิลเห็นทุกห่อ คัดลูกสมบูรณ์ ห่อเป็นรุ่น ใช้ถุงใหม่ ห่ออย่างปราณีต ใช้เวลาห่อให้สั้นที่สุด นี่คือวินัยที่ผมยึดปฏิบัติ และจะทำความเข้าใจกับพนักงานก่อนห่อทุกครั้ง” คุณเดียร์ขยับหมวกกันแดด และมองผมอย่างมั่นใจ
“อีกอย่างที่อยากจะบอก คุณเดียรตัดแต่งกิ่งให้ออกในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูกาล แบ่งเป็นโซน ๆ ใครว่าทำยากอย่างไร เชื่อผมเถอะครับผมเห็นมานักต่อนัก ถ้าคิดว่าทำได้...มันก็ทำได้ แต่ถ้าคิดว่าเป็นอุปสรรค์ทุกอย่างก็จะเป็นอุปสรรค์ไปหมด ทำให้เกิดความท้อแท้...”ผมกล่าวเตือนอย่างจริงใจ
“ผมเตรียมไว้แล้วครับ ผมจะให้ออกช่วงเกือนกรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน ครับ จะแบ่งเป็นโซน ๆ ไปให้ชัดเจน ผมคิดว่าทำได้ครับ” กล่าวอย่างมั่นใจก่อนพาผมไปดูแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ที่อยู่ด้านหน้าอย่างไม่น่าเชื่อ ว่ามีความอุดมสมบูรณ์ได้ขนาดนั้น
“อีกอย่างที่ผมอยากจะบอก คือเรื่องการตรวจสอบดิน อย่าลืมนะ นี่เป็นหัวใจสำคัญของการทำการเกษตรที่จะสืบถอดเป็นมรดกไปถึงลูกหลาน เราเอาธาตุอาหารเขาออกมาเท่าไร เราควรใส่ให้เขากลับคืนไปเท่านั้น เขาก็จะอยู่กับเรานานแสนนานนะ”ผมกล่าวเป็นเชิงตรรกะ และยิ้มอย่างภาคภูมิใจ ที่เห็นคนหนุ่มสาวที่มีความมุ่งมั่น ขยันอดทน คิดแบบบูรณาการ ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ
“ครับผมจะรีบดำเนินการให้เร็วที่สุด และจะทำตามคำแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดินและพืชครับ”
“เมื่อไหร่เก็บได้ละชุดนี้...”ผมหยอดคำถามง่าย ๆเพื่อดูท่าทีของคุณเดียร
“หลายคนให้ผมเก็บ ผมยังไม่เก็บเพราะมันยังอ่อน นี่เพิ่งจะสัก 75% หลายบริษัทมาให้ราคาสูง ให้ผมเก็บ อย่างไรผมก็ไม่เก็บ เพราะถ้าอ่อนไปลูกค้ารับไม่ได้ ที่สุดผมก็ต้องรับกรรม ผมถือเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นวินัยที่ต้องยึดเป็นหลักธรรมประจำใจ ใครจะว่าอย่างไรผมไม่สน ราคาจะถูกเมื่อถึงเวลาเก็บผมก็ยอม” คุณเดียรกล่าวอย่างเชื่อมั่นในวิธีคิดของตนเอง
“ถูกต้องครับ นี่แหละที่ผมอยากเห็นเกษตรกร เป็นตัวของตัวเอง มีความรู้ ความเข้าใจ มีคุณธรรม และนี่แหละที่ผมเรียกว่าเกษตรมืออาชีพไง”คุณเดียรยิ้มอายๆก่อนร่ำลากันไปในบ่ายคล้อยที่อากาศเย็นสบายท่ามกลางธรรมชาติ ขุนเขา และต้นไม้เขียวชอุ่มไปทั่วสุพรรณบุรี
ก่อนจบ ผมขอนำเอาเหตุการณ์ สองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม มาเป็นแบบอย่างในการรวมเครือข่ายที่อยู่ใกล้เคียง และร่วมจัดเป็นงานเดียวกัน ประหยัด และทำให้เกษตรกรเกิดความใกล้ชิด คุ้นเคย และถ่ายทอดองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน คือวันที่ 14 มกราคม 2553 และเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2553ทั้งสองงานถือว่าเป็นงานใหญ่ที่รวบรวมเกษตรกร กลุ่ม สหกรณ์ และผู้ส่งออกมานั่งเซนต์สัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดมาเป็นสักขีพยาน และเป็นผลงานของภาครัฐ ส่วนผู้ส่งออก และกลุ่มที่เซนต์สัญญาก็เป็นอันรู้กันว่า สัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษร ฤาจะสู้สัญญาใจ ที่ต่างคนต่างเข้าใจในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะปริมาณ และราคา บางครั้งในฤดูกาลมีผลผลิตมาก ราคา จำนวนก็ยืดหยุ่นกันไป ในช่วงมีน้อย ก็แบ่งสรรปันส่วนอย่างเป็นธรรม ตรงไปตรงมา เท่านี้ก็เป็นสัญญาใจซึ่งกันและกัน ผูกมัดยิ่งกว่าสัญญาใด ๆ
งานแรก จัดขึ้นที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2553 ที่ทำการกลุ่มพัฒนาไม้ผลตำบลวังทับไทร โดยมี สามกลุ่มร่วมมือกัน คือ กลุ่มพัฒนาไม้ผลตำบลวังทับไทร อ.สากเหล็ก จ.พิษณุโลก โดย คุณนคร บัวผัน เป็นเจ้ามือจัดงาน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะม่วงบ้านหนองหิน ต.พันชาลี อ.วังทอง โดย คุณบัญหยัด ชาญฝั่น และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านคลองวังเรือ ตำบลพันชาลี อำเภอวังทอง จ.พิจิตร งานนี้เกษตรกร และผู้ส่งออกมาพร้อมหน้าพร้อมตา จัดงานใหญ่โต มีอาหารเลี้ยง มีบริษัทต่าง ๆ มาออกบูชแสดงสินค้า ผมมีโอกาสแนะนำหนังสือ “เปลี่ยนสู่ความสำเร็จ” ก่อนวันเปิดตัวสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย
อีกงาน ที่จัดที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นงานใหญ่ในรอบปี เป็นการประชุมสัมนาเชื่อมโยงการผลิต การตลาด และการจัดทำข้อตกลงทางการค้าแบบมีพันธะสัญญา (Contract Farming) มะม่วงระดับประเทศ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ สมาคมชาวสวนมะม่วงไทย จัดประชุมกันที่ โรงแรม วังธารา แอนด์ รีสอร์ท จังหวัดฉะเชิงเทรา มีคนร่วมงานร่วม 500 คน โดยการรวมกลุ่มต่าง ๆ จากทั่วประเทศมาร่วมเซนต์สัญญาซื้อขายล่วงหน้า มีทั้งผู้ส่งออก สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร เกษตรกร บริษัทร้านค้ามาร่วมงานกันคับคลั่ง นับเป็นงานที่มีผู้ร่วมงานมากที่สุดเท่าที่เคยจัดมาครับ วันนั้น ผู้บริหารภาครัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัด เกษตรจังหวัด ผู้บริหารจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สส. สว. มากันพร้อมหน้า เนื้อหาในงานแน่นจนไม่มีเวลาได้พูดคุยกับเกษตรกร และกลุ่มต่าง ๆ แค่ผู้ใหญ่พูดก็หมดไปแล้วครึ่งวัน อันนี้ก็เป็นวิธีการจัดงานที่เหมือน ๆ ทุกครั้ง เกษตรกร และผู้ส่งออกต้องการทราบปัญหาว่าปีนี้จะมีมะม่วงเมื่อไร เท่าไร ตลาดที่สำคัญมีที่ไหน มากกว่า การเสวนาเรื่องเก่า ๆ วิชาการ จนเกษตรกรฟังไม่รู้เรื่องเดินเกร่ไปเกร่มาด้านนอก
งานนี้ ผมมีหนังสือมาฝากหนึ่งเล่ม เป็นหนังสือที่เกิดจากความมุ่งมั่น ตั้งใจ ด้วยจิตและวิณญาณของคนรักหนังสือ รักการเขียน และรักการทำหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ กลั่นกรองจากหัวใจ บรรจงร้อยเรียงลงเป็นหนังสือที่มีคุณค่า ของ ดร.กาจนา สุทธิกุล กัลยาณมิตรที่มีจิตใจดีงาม มีคุณธรรมเป็นแกนหลักในการดำเนินชีวิต มอบให้กับสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย จำนวน 300 เล่ม เพื่อเป็นทุนในการบริหารจัดการในสมาคม ราคาเล่มละ 149.- บาท สั่งซื้อได้ที่สมาคมชาวสวนมะม่วงไทย หรือสั่งซื้อตรงที่ ดร.กาญจนา สุทธิกุล เงินรายได้ มอบเป็นทุนให้กับนักศึกษาไทยไปศึกษาที่ไต้หวัน ที่เหลือเก็บเป็นทุนทำเล่มต่อไป ขอให้ความมุ่งมั่น ความตั้งใจนี้เป็นพลังขับเคลื่อนให้เล่ม 2 คลอดมาเร็ว ๆ หลายคนรออ่าน หนังสือดี ๆ อย่างนี้ต้องช่วยกันสนับสนุนครับ ไม่ได้มุ่งหวังกำไรด้านธุรกิจ มุ่งหวังถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกรไทยที่ห่างไกล และโดยเดี่ยว ใครสนใจก็ลองโทรไปที่ 084-949-0204 ใครที่รักมะม่วง อยากทำมะม่วง อยากรู้เรื่องตลาด หนังสือเล่มนี้มีคุณค่า น่าอ่านน่าเก็บครับ!!!