วันอังคารที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551

“วิสาหกิจชุมชนโป่งตาลอง”อีกก้าว...ในการยกระดับสู่สากล

โดยชฎิล นิ่มนวล.

ช่วงกลางเดือนกันยายน 2551 ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน ได้จัดอบรมสัมมนาเชิงวิชาการให้กับ“วิสาหกิจชุมชนโป่งตาลอง”โดยบริษัท ไชน์โฟร์ท จำกัด และบริษัท สวิฟ จำกัด ได้ร่วมสนับสนุนทุนในการสัมนา 2 วัน วันแรกเป็นเรื่องของ “GLOBAL GAP สาระสำหรับชาวสวนยุคใหม่” บรรยาย โดย ดร.ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล และ ดร.ชวนพิศ อรุณรังสิกุล กลุ่มเครือข่าย GAP ภาคตะวันตก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน วันที่ 2 ช่วงเช้าเป็นเรื่อง “การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวผักและผลไม้” บรรยายโดย ศาสตราจารย์ ดร.จริงแท้ ศิริพานิช ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วงบ่ายเป็นเรื่อง “ของดินสำหรับการปลูกมะม่วง” บรรยายโดย ผศ.อรรถศิษฐ์ วงศ์มณีโรจน์ ภาคปฐพีวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปิดท้ายด้วยการทดลอง“วิทยาการหลังเก็บเกี่ยวมะม่วง” ที่นำผลผลิตจากวิสาหกิจชุมชนโป่งตาลอง สามารถยืดอายุมะม่วงเก็บรักษาได้ 4 สัปดาห์ และยังสามารถวางขายได้อีกไม่น้อยกว่า 5 วัน โดย ดร.อภิตา บุญศิริ และทีมงาน และยังได้รับความเมตตาจากท่าน ศ. ดร.จริงแท้ ศิริพานิช มาเป็นประธานในพิธีเปิด บรรยาย พร้อมตอบปัญหา ข้อซักถาม และร่วมรับประทานอาหารอย่างเป็นกันเองกับเกษตรกร นับเป็นเวลาสองวันเต็มที่เกษตรกรให้ความสนใจมากันอย่างครบถ้วน เพราะได้รับประโยชน์ที่สามารถนำไปพัฒนาตนเอง และกลุ่มให้ก้าวสู่มาตรฐานระดับสากลได้ จากที่พูดคุยกับเกษตรกร ก็ให้รู้สึกชื่นชมเกษตรกรตัวอย่างเหล่านี้ ที่ตั้งใจพัฒนาตนเองอย่างจริงจัง เปิดใจกว้าง พร้อมรับวิทยาการ และเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างกลมกลืน อยากให้กลุ่มต่าง ๆ นำมาเป็นแบบอย่างเพื่อก้าวสู้ระดับสากลอย่างมืออาชีพเหมือนวิสาหกิจชุมชนชาวโป่งตาลองครับ !
สิ่งที่ “วิสาหกิจชุมชนโป่งตาลอง” กำลังพัฒนาไปสู่ระบบสากลอีกขั้นหนึ่งนั้น เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้แต่ในประเทศเอง การแข่งขันของกลุ่มผู้ผลิตมะม่วงที่เป็นกลุ่มมืออาชีพด้วยกันก็มีการแข่งขันสูงอยู่แล้ว และยังจะต้องแข่งขันในระดับสากลจากต่างประเทศที่เป็นคู่แข่งที่ใช้วิทยาการ และเทคโนโลยี สมัยใหม่มาช่วย การอบรมเพื่อวางพื้นฐานในก้าวสู่สากลด้วยการเริ่มที่จะทำ GLOBAL GAP เพื่อพัฒนาผลผลิตให้ก้าวไกลขึ้นสู่ระดับสากล เพราะในที่สุดแล้วทุกประเทศในโลกจะต้องก้าวไปสู่จุดเดียวกัน ดังนั้นใครก้าวไปถึงจุดนั้นก่อนถือว่าได้เปรียบครับ..
อย่างที่บอกครับ... การแข่งขันไม่เฉพาะเรื่องของคุณภาพของผลผลิตที่สามารถสอบทวนย้อนกลับได้ ความปลอดภัย การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ชาวโป่งตาลองกลับมองเห็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกับรักษามรดกที่ธรรมชาติให้มาอย่างสมดุล นำมาสร้างเป็นขีดความสามารถหลัก(Core Competency) เพื่อให้เกิดความแตกต่างที่ยากต่อการลอกเรียนแบบให้เหนือกว่าคู่แข่งในภูมิภาคใด ๆ ในประเทศ และในโลก เขาเหล่านั้นกลับมองถึงอนาคตที่ทุกคนต้องรักษามรดกอันล้ำค่านั้นไว้ให้อยู่อย่างยั่งยืน ไม่ต้องการอพยพไปพื้นที่ใหม่ เหมือนกับที่อื่น ๆ กำลังเป็นอยู่ เหล่านี้เป็นวิธีคิดที่แยบยลที่ผมต้องขอปรบมือให้กับชุมชนชาวโป่งตาลอง คุณมนตรี ศรีนิล คุณมาลี ศรีนิล คุณไพฑูรย์ มาไพศาล คุณจำรูญ มาไพศาล รวมถึงคณะกรรมการ สมาชิกทุกคน รวมทั้งคุณช้อย สองเมือง ที่เริ่มมาเป็นสมาชิกใหม่ในกลุ่ม ด้วยความจริงใจครับ
เนื่องจากเนื้อที่มีจำกัดผมคงไม่เล่าเรื่องมากนัก เพียงต้องการจะนำเอาบทความของ ร.ศ. ดร.สุมิตตา ภู่วโรดม ซึ่งผมถือว่าเป็นอาจารย์ที่ผมเคารพนับถือมากที่สุดท่านหนึ่ง ท่านได้เขียนบทความเรื่อง ธาตุอาหารพืชกับไม้ผล สิ่งนี้ครับ ที่ผมบอกกับท่านผู้อ่านว่าเกษตรกรกลุ่มนี้มีจิต วิญาณที่จะปกป้องพื้นแผ่นดินที่เป็นมรดกที่สมบูรณ์ล้ำค่า ทั้งแร่ธาตุ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ เส้นทางการขนส่งที่ไม่ไกลจากศูนย์กลางของการขาย โดยให้ความสำคัญในการจัดการธาตุในดินให้เหมาะสม สมดุล ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมลองอ่านดูครับ ผมตัดเอาบางส่วนมาให้ท่านอ่านดูเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกับการอบรม หากมีโอกาสจะเอามาลงในครั้งต่อไป รวมทั้งของ ผศ.อรรถศิษฐ์ วงศ์มณีโรจน์ที่ พูดเรื่องดิน การตรวจสอบดิน ธาตุที่สำคัญในดิน รวมถึงความสำคัญของน้ำอย่างละเอียด เพื่อให้ทุกท่านที่ยังไม่เคยคิดถึงเรื่องเหล่านี้หันกลับมาดูเรื่องใกล้ตัว จัดการสิ่งต่าง ๆ อย่างชาญฉลาดบนพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ และเป็นปัจจุบัน บทความนี้ผมได้ ขออนุญาตท่าน นำมาลงให้เกษตรได้อ่าน ผมยังถามท่านต่ออีกว่า “หากเกษตรกรต้องการให้วิเคราะห์ดินและพืชจะได้หรือไม่? “ ท่านตอบว่าไม่ขัดข้อง ติดต่อท่านได้ที่ (ร.ศ.ดร.สุมิตตา ภู่วโรดม) ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520 โทร 326-6137 , 326-6052-101 ต่อ 330 หลายท่านอาจจะกลัวๆ... ท่านใจดีครับ! รับประกัน ไม่ผิดหวัง ท่านวิเคราะห์ทั้งธาตุหลัก ธาตุรอง และจุลธาตุ และบอกด้วยว่า จะใส่ธาตุต่าง ๆ อย่างไร เชื่อเถิดครับหากไม้ผล ได้รับสารอาหารครบถ้วน ไม่มาก ไม่น้อย หรือไม่สะสมจนเกิดเป็นภาวะต่าง ๆ ที่มีผลกระทบกับธาตุตัวอื่นจนเกิดเป็นปัญหาตามมา เมื่อผลไม้สมบูรณ์แข็งแรง ภูมิต้านทานโรคก็ดี ทุกวันนี้ใคร ๆ ก็ผลิตมะม่วงได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและถามใคร ๆ ก็ไม่ได้คำตอบ ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากความผิดพลาด และความไม่สมบูรณ์ของต้นไม้ที่ได้รับธาตุอาหารไม่ครบถ้วน ท่านลองอ่านดูครับ!
“จากอดีตที่ผ่านมา คำแนะนำการให้ปุ๋ยในไม้ผลที่มีการแนะนำ และอ้างอิงต่อกันมาเรื่อยๆนั้นนับว่าไม่ถูกต้องนัก เพราะในอดีต ไม่มีผลงานวิจัยที่ชัดเจนมาก่อนว่าไม้ผลที่ปลูกในเมืองไทยแต่ละชนิดมีความต้องการธาตุอาหารพืชอย่างไรบ้าง จึงได้มีคำแนะนำกลางๆ สำหรับการใส่ปุ๋ยไม้ผลทุกชนิด ทุกพื้นที่ ด้วยสูตรเดียวกัน เช่น ช่วงบำรุงต้น แนะนำให้ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ช่วงก่อนออกดอกแนะนำให้ใช้ปุ๋ยสูตรที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น 8-24-24 หรือ 9-24-24 ช่วงบำรุงผลแนะนำให้ใช้ปุ๋ยสูตรที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น 13-13-21 หรือ 12-12-27+2Mg ในเรื่องนี้ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการจัดการธาตุอาหารพืชได้กล่าวไว้ว่า พืชแต่ละชนิดจะมีความต้องการธาตุอาหารพืชที่แตกต่างกัน ดินปลูกไม้ผลแต่ละแหล่งมีองค์ประกอบ และคุณสมบัติของดินที่ต่างกันไป ดังนั้นคำแนะนำ การจัดการธาตุอาหารพืชจึงควรจะต้องแตกต่างกันไปด้วย ซึ่งวิธีการที่ตัดสินใจใช้ปุ๋ยหรือจัดการธาตุอาหารพืชอย่างถูกต้องนั้น ควรจะมีการตรวจวิเคราะห์ดินและพืช เพื่อให้ทราบสถานภาพที่แท้จริงว่า ดินมีธาตุอาหารแต่ละอย่างมากน้อยแค่ไหน และดินอยู่ในสภาพที่เอื้ออำนวยให้ธาตุอาหารที่มีอยู่เป็นประโยชน์ต่อพืชหรือไม่ แต่การวิเคราะห์ดินเพียงอย่างเดียวไม่สามารถบอกได้ว่าพืชจะดูดอาหารไปใช้ได้อย่างสมดุลย์หรือไม่ จึงมีความจำเป็นที่ต้องวิเคราะห์ใบพืชด้วย ประเด็นที่สำคัญที่นักวิจัยทุกรายได้กล่าวไว้สอดคล้องกัน คือ พืช (ไม้ผล) มีความต้องการฟอสฟอรัสในสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการไนโตรเจนและโพแทสเซียม การที่ชาวสวนไม้ผลใส่ปุ๋ยอัตรา 1:1:1 เช่นปุ๋ยสูตร 15-15-15 นั้นแสดงว่าใส่ฟอสฟอรัสมากเกินความจำเป็น มิหนำซ้ำในช่วงก่อนออกดอกยังมีการใส่ปุ๋ยสูตรที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น 8-24-24 หรือ 9-24-24 โดยที่ไม่เคยมีผลงานวิจัยใดๆพิสูจน์มาก่อนว่าฟอสฟอรัสมีบทบาทในการกระตุ้นการออกดอก ซึ่งการใส่ปุ๋ยที่ผิดดังกล่าวนอกจากจะทำให้สิ้นเปลืองเงินโดยใช่เหตุแล้ว ปุ๋ยฟอสฟอรัสที่มากเกินจำเป็นและเหลือตกค้างอยู่ในดินเป็นปริมาณมาก ก็จะไปจับกับจุลธาตุทำให้จุลธาตุอยู่ในรูปที่พืชดูดไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ พืชจึงแสดงอาการขาดจุลธาตุนั้นตามไปด้วย เกษตรกรก็แก้ปัญหาด้วยวิธีการให้ปุ๋ยทางใบแทน เป็นการเพิ่มต้นทุนยิ่งขึ้นไปอีก
จะเห็นว่าการจัดการธาตุอาหารพืชให้เหมาะสมเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก และสลับซับซ้อน การจัดการที่ไม่ถูกต้องจะทำให้เกษตรกร สูญเสียเงินซื้อปุ๋ย มีผลเสียต่อสุขภาพและการให้ผลผลิตของพืช และมีผลกระทบต่อคุณสมบัติของดินด้วย วิธีการแก้ปัญหาที่ดี คือ ควรมีการวิเคราะห์ดินและใบพืช เพื่อนำไปวางแผนใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เรื่องนี้จัดเป็นเรื่องใหม่ในวงการไม้ผลของไทย และในขณะเดียวกัน จำนวนห้องปฏิบัติการที่จะให้บริการตรวจวิเคราะห์ หรือจำนวนผู้เชี่ยวชาญที่จะให้คำแนะนำได้อย่างชัดเจน มีค่อนข้างน้อย ในสถานการณ์เช่นนี้จึงเห็นว่า การให้ความรู้และข้อมูลเป็นสิ่งที่จำเป็นในอันดับแรก เมื่อนักส่งเสริมและเกษตรกรมีความรู้และมีข้อมูลเพียงพอแล้วย่อมจะตัดสินใจเลือกวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมได้ ผู้ที่มีความพร้อมก็สามารถรับไปดำเนินการได้ทันที ส่วนผู้ที่ยังไม่มั่นใจหรือยังไม่มีความพร้อมด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม ก็อาจนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมของตนต่อไป ทั้งนี้ไม่ว่าเกษตรกร จะจัดการธาตุอาหารพืชในสวนไม้ผลด้วยวิธีการใดก็ตาม สิ่งที่ท่านจะต้องตระหนักอยู่เสมอคือ ต้นไม้ผลในสวนจะต้องมีความแข็งแรงสมบูรณ์และสามารถให้ผลผลิตในปริมาณและคุณภาพที่ดี ภายใต้การจัดการต้นทุนที่เหมาะสม
ความรู้เรื่องธาตุอาหารพืช ธาตุที่จัดเป็นธาตุอาหารพืชนอกเหนือจาก คาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน ซึ่งพืชได้จากอากาศและน้ำแล้ว อาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตของพืช ซึ่งพืชจะได้รับจากดินมีจำนวน 14 ธาตุ แบ่งตามปริมาณที่พืชต้องการ ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. ธาตุหลัก เป็นธาตุที่พืชต้องการในปริมาณมากและมักพบขาดแคลนในดินทั่วไป มี 3 ธาตุ คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม
2. ธาตุรอง เป็นธาตุที่พืชต้องการในปริมาณมากเช่นเดียวกับธาตุหลัก ซึ่งในอดีตมักไม่พบอาการขาดธาตุอาหารในกลุ่มนี้ แต่มาในปัจจุบันมีการใช้ปุ๋ยต่างๆมากขึ้น ดินมีสภาพเป็นกรดจึงมักพบอาการขาดธาตุรองนี้ ธาตุรองมี 3 ธาตุ คือ แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน
3. จุลธาตุ เป็นธาตุที่พืชต้องการในปริมาณเล็กน้อย แต่พืชขาดธาตุเหล่านี้ไม่ได้ มี 8 ธาตุ คือ เหล็ก ทองแดง สังกะสี แมงกานีส โบรอน โมลิบดีนัม คลอรีน และนิกเกิล
ในการจำแนกธาตุดังกล่าวนี้ กลุ่มธาตุหลักซึ่งพืชต้องการในปริมาณมาก และมักพบขาดแคลนในดินทั่วไป นั้น เป็นข้อยกเว้นสำหรับ ฟอสฟอรัส เนื่องจากพบว่า ในเนื้อเยื่อของพืชมีฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบอยู่น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับไนโตรเจน และโพแทสเซียม เนื่องจาก ในกระบวนการเจริญเติบโตของพืชทั้งทางด้านกิ่งก้านสาขา และการเจริญพันธุ์ มีธาตุอาหารหลายธาตุเข้าไปมีบทบาทร่วมกัน ดังนั้น ต้องยึดมั่นในหลักการว่า พืชต้องได้รับธาตุอาหารครบทุกธาตุแต่ละธาตุอย่างเพียงพอ และในปริมาณที่สมดุลกันเท่านั้น พืชจึงจะเจริญเติบโตได้ตามปกติ
ธาตุอาหารพืชฟอสฟอรัส ในดินมีกำเนิดมาจากการสลายตัวผุพังของแร่บางชนิดในดิน การสลายตัวของสารอินทรียวัตถุในดิน ก็จะสามารถปลดปล่อยฟอสฟอรัสออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืชที่ปลูกได้เช่นเดียวกับไนโตรเจน ดังนั้น การใช้ปุ๋ยคอกนอกจากจะได้ธาตุไนโตรเจนแล้วก็ยังได้ฟอสฟอรัสอีกด้วย ธาตุฟอสฟอรัสในดินที่จะเป็นประโยชน์ต่อพืชได้จะต้องอยู่ในรูปของอนุมูลของสารประกอบที่เรียกว่า ฟอสเฟตไอออน (H2PO4- และ HPO4-) ซึ่งจะต้องละลายอยู่ในน้ำในดิน สารประกอบของฟอสฟอรัสในดินมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ละลายน้ำยาก ดังนั้นจึงมักจะมีปัญหาเสมอว่าดินถึงแม้จะมีฟอสฟอรัสมากก็จริงแต่พืชก็ยังขาดฟอสฟอรัส เพราะส่วนใหญ่อยู่ในรูปที่ละลายน้ำยากนั่นเอง นอกจากนั้นแร่ธาตุต่าง ๆ ในดินชอบที่จะทำปฏิกิริยากับอนุมูลฟอสเฟตที่ละลายน้ำได้ ดังนั้นปุ๋ยฟอสเฟตที่ละลายน้ำได้เมื่อใส่ลงไปดินประมาณ 80-90% จะทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุในดินกลายเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำยากไม่อาจเป็นประโยชน์ต่อพืชได้ ดังนั้นการใส่ปุ๋ยฟอสเฟตจึงไม่ควรคลุกเคล้าให้เข้ากับดินเพราะยิ่งจะทำให้ปุ๋ยทำปฏิกิริยากับธาตุต่าง ๆ ในดินได้เร็วยิ่งขึ้น แต่ควรจะใส่แบบเป็นจุดหรือโรยเป็นแถบให้ลึกลงไปในดินในบริเวณรากของพืช ปุ๋ยฟอสเฟตนี้ถึงแม้จะอยู่ใกล้ชิดกับรากก็จะไม่เป็นอันตรายแก่รากแต่อย่างใด ปุ๋ยคอกจะช่วยป้องกันไม่ให้ปุ๋ยฟอสเฟตทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุในดินและสูญเสียความเป็นประโยชน์ต่อพืชเร็วจนเกินไป
พืชเมื่อขาดฟอสฟอรัสจะมีต้นแคระแกร็น ใบมีสีเขียวคล้ำ ใบล่าง ๆ จะมีสีม่วงตามบริเวณขอบใบ รากของพืชชะงักการเจริญเติบโต พืชไม่ออกดอกและผล พืชที่ได้รับฟอสฟอรัสอย่างเพียงพอจะมีระบบรากที่แข็งแรงแพร่กระจายอยู่ในดินอย่างกว้างขวาง สามารถดึงดูดน้ำและธาตุอาหารได้ดี การออกดอกออกผลจะเร็วขึ้น”
ในขณะที่ อรรถศิษฐ์ วงศ์มณีโรจน์ (2551: 11)ได้อธิบายเรื่องดินอย่างละเอียด พร้อมทั้งรับบริการเรื่องการตรวจสอบดิน มีชุดตรวจสอบดินไว้จำหน่ายใครสนใจก็สามารถติดต่อท่านได้ที่ ภาควิชาปฐพี คณะเกษตร กำแพงแสน โทร034-351 893 หรือ 089-110-5543 ซึ่งหากมีโอกาสจะนำบทความของท่านมาลงให้ได้อ่านกัน ในครั้งนี้ท่านสรุปไว้น่าสนใจดังนี้ “การปลูกมะม่วงให้ได้คุณภาพดี ควรใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับคุณภาพของดิน โดยเลือกใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพ เช่น การระบายน้ำ ระบายอากาศของดิน และยังมีส่วนเพิ่มธาตุอาหารพืชให้กับดินด้วยอีกทางหนึ่ง แม้ว่าปุ๋ยอินทรีย์จะมีธาตุปุ๋ยไม่เข้มข้นเท่าปุ๋ยเคมีก็ตาม ดังนั้นหากปุ๋ยอินทรีย์ไม่สามารถให้ธาตุอาหารได้เพียงพอกับความต้องการของมะม่วง เราจึงควรใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตรต่าง ๆ เพื่อบำรุงการเจริญเติมโตของมะม่วงในจังหวะ และอัตราที่เหมาะสม การปลูกมะม่วงจึงจะได้ผลดี และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในทางที่ดีด้วย”
เป็นอย่างไรครับ? ผมว่ารองปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่เถิดครับ ทุกครั้งที่ผมเดินทางไปพบเกษตรกร ทุกภาค ทุกพื้นที่ คำถามที่ผมถามก่อนบรรยาย คือ “ท่านเคยตรวจวิเคราะห์ดินและพืชหรือไม่” เชื่อหรือไม่ครับ 80 % ตอบเหมือนกันว่า “ไม่เคยเลย ตั้งแต่ปู่ย่าตายายมาแล้ว ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตรวจไปทำไม ตรวจที่ไหน” อีกสัก 15 % ตอบว่าตรวจเฉพาะค่าความเป็นกรดด่าง เท่านั้น ที่เหลือ ตรวจก็ตรวจแบบไม่สมบูรณ์ และไม่ได้เอามาใช้อย่างจริง ๆ จัง ๆ แล้วถามต่อว่า แล้วใส่ปุ๋ย กันอย่างไร คำตอบที่ได้รับก็คือ “ใส่ตามๆ กันมา ตามความเชื่อ หรือใครก็ไม่รู้แนะนำว่าให้ใส่กลาง ๆ ไปก่อน” ลองตรวจวิเคราะห์ดินและพืช ซึ่งดูเหมือนยาก สลับซับซ้อน มีค่าใช้จ่าย แต่ถามว่าคุ้มหรือไม่ รับประกันว่า สิ่งที่ได้เกินคุ้มครับ! ไม่ว่าจะทำให้ต้นทุนต่าง ๆ ลดลงอย่างน่าตกใจ ยิ่งถ้าสามารถควบคุมการใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ระยะเวลาในการใส่ ความรู้ความเข้าใจในการใส่ ผมเคยถามเกษตรกรว่าใส่ปุ๋ยอย่างไร? เกษตรกรตอบว่า “หว่านรอบ ๆ ต้น”

เห็นไหมครับ ว่า ปุ๋ยบางชนิด ระเหยได้ ระลายน้ำได้ดี หากว่าฝนตกก็ไหลไปไหนก็ไม่รู้ หรือหว่านไปตกอยู่บนวัชพืช หรือใบไม้ ก็ละเหยหมด เหล่านี้เป็นความรู้ที่เกษตรกรต้องเข้าใจอย่างท่องแท้ ลองดูเถอะครับ แล้วท่านจะเป็นเกษตรกรที่มีความแตกต่างจากเกษตรกรคนอื่นทั่วๆไปที่ยังเอาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน เพราะมี “อาชีพเป็นเกษตรกร” ปรับเปลี่ยนมาเป็น “เกษตรมืออาชีพ”เถอะครับ เปลี่ยนได้เลย เปลี่ยนเถอะครับ! ไม่มีค่าใช้จ่าย ใด ๆ ทั้งสิ้น ฟรีครับ!!!.
...........................................................................................................................
อ้างอิง : สุมิตตา ภู่วโรดม. ธาตุอาหารพืชกับไม้ผล [Online].Accessed 27September 2008. Available from
http://chumphon.doae.go.th/sara/tat.doc
: อรรถศิษฐ์ วงศ์มณีโรจน์. เอกสารประกอบคำบรรยายการฝึกอบรมวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวพืชสวน: ดินสำหรับการปลูกมะม่วง. 16 กันยายน2551

Products Talk-Mango Talk: ย้อนรำลึก Nine/Eleven

Products Talk-Mango Talk: ย้อนรำลึก Nine/Eleven

คิดกว้าง มองไกล ทันสมัยเฉียบคม "ผู้นำองค์กรยุคใหม่"

อย่างที่ทราบ ๆ กันดีอยู่แล้วว่า ทุกวันนี้โลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ด้าน ยิ่งนับวัน...ก็ยิ่งทวีความรุนแรง จนต้องกลับมาคิดทบทวนว่า เราจะอยู่ร่วมกันท่ามกลางกระแสของการเปลี่ยนแปลง ความขัดแย้ง แนวความคิดที่แตกต่าง แต่ลงตัว และสมดุลได้อย่างไร? โจทย์เหล่านี้เกิดมาร่วม 20 ปีแล้ว ในช่วงแรก ๆ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไม่มากนัก มาช่วงหลังเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทั้งคน ทั้งสิ่งแวดล้อม ดูเหมือนจะถ่วงดุลเพื่อให้ไปพร้อม ๆ กันได้ สาเหตุมีอยู่ด้วยกัน 7 ประการ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญอันได้แก่ โลกาภิวัฒน์ของตลาดและเทคโนโลยี การเชื่อมต่อกันได้ทั้งโลก ข้อมูลความคาดหวังที่เป็นประชาธิปไตย การแข่งขันทวีความรุนแรงและเข้มข้น ความั่งคั่งที่เปลี่ยนจากการลงทุนด้วยเงินมาเป็นปัญญาแทน คนรักงานอิสระมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของโลกที่รุนแรง
โลกาภิวัฒน์ของตลาดและเทคโนโลยี ความทันสมัยของเทคโนโลยีกำลังมีบทบาทและเพิ่มมากขึ้นในการเปลี่ยนแปลงทุกบริบท โลกอินเตอร์เน็ต กลายเป็นแหล่งรวมหรือทะเลความรู้ ความหลากหลาย การเข้าถึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่เปลี่ยนโลกของตลาดชุมชน ท้องถิ่น สู่การตลาดภูมิภาคและประเทศ เชื่อมโยงจนกลายเป็นการตลาดโลก โลกทั้งโลกกลายเป็นหมู่บ้าน ชุมชนที่แคบลงทันที รวดเร็ว รุนแรง และเร่งเร้า
การเชื่อมต่อกันได้ทั้งโลก จากเดิมเป็นการรวมกิจกรรมต่าง ๆ ทางธุรกิจเอาไว้ด้วยกัน มาบัดนี้ล่มสลายไปในชั่วพริบตา ด้วยการเชื่อมต่อกันได้ทั่วโลก ทุกแห่งหน ธุรกิจสามารถแยกส่วนและข้อมูลออกจากกัน และเชื่อมโยงด้วยระบบเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนารวดเร็วเพียงปลายนิ้วสัมผัส น่าตกใจอย่างที่ไม่เคยมีมาในประวัติศาสตร์มาก่อน
ข้อมูลและความคาดหวังที่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีใครสามารถบริหาร หรือจัดการระบบการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารด้วยเทคโนโลยี เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ และส่งผลอย่างลุ่มลึกในระดับโลก ความรู้สึกที่ซ่อนในห้วงจิตสำนึกของคน สามารถแสดงออกได้อย่างอิสระ เป็นวินาทีต่อวินาที ทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงความคาดหวังของสังคม นโยบาย การเมืองในที่สุด และแน่นอน ต้องกระทบถึงตัวบุคคล ทั้งแนวความคิด และวิธีปฏิบัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การแข่งขันทวีความรุนแรงและเข้มข้น การแข่งขันเพิ่มทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็ว ระบบการเชื่อมโยงทางด้านเทคโนโลยี และเทคโนโลยีดาวเทียมทำให้เกิดการติดต่อที่แสนง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส กลับกลายเป็นคู่แข่งได้ทันที องค์กรต่าง ๆ ต้องพัฒนา ขีดความสามารถ รวมถึงวิธีคิด วิธีทำงานที่ดีกว่าเดิมอย่างเอาจริงเอาจัง เข้มข้น เพื่อพัฒนาแข่งขันกับค่าแรงที่ลดลง ค่าใช้จ่ายวัสดุที่ลดลง นวัตกรรมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าเดิม ประสิทธิภาพสูงขึ้น และคุณภาพที่สูงและคุ้มค่า พลังของการแข่งขัน และการประกอบการแบบเสรี จะผลักดันให้คุณภาพสินค้าและบริการดีขึ้น ค่าใช้จ่ายลดลง เป็นพลังผลักดันให้เกิดความรวดเร็วคล่องตัว ยืดหยุ่น เพื่อสนองตอบความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย การตั้งเป้าหมายมาตรฐานเพียงระดับที่สู้คู่แข่งได้ หรือ เพื่อ “ความเป็นเลิศ” นั้นเห็นทีจะไม่เพียงพอ หรือน้อยไปเสียด้วยซ้ำ เราจะต้องตั้งเป้าหมายระดับ “มาตรฐานโลก หรือระดับสากล (Global Standard)” เป็นเป้าหมายขององค์กร
ความมั่งคั่งที่เปลี่ยนจากการลงทุนด้วยเงินมาเป็นปัญญาแทน การสร้างความมั่งคั่งที่เคยยึดติดกับตัวเงิน ที่ใครมีสายป่านยาวย่อมเป็นต่อ มาบัดนี้เปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง กลับกลายเป็นการเคลื่อนย้ายจากทุนที่เป็นตัวเงินมาเป็นทุนทางปัญญาและสังคม หรือทุนมนุษย์ (Human Capital) องค์กรใดยังหลงมองว่าคนเป็นภาระ ค่าใช้จ่าย หรือต้นทุน (Cost) เพราะปัจจุบันนี้มูลค่าที่เพิ่มขึ้นของตัวสินค้า เกิดจากการอาศัยองค์ความรู้ที่เกิดจากคนทั้งสิ้น ซึ่งแตกต่างจากเมื่อยี่สิบปีที่แล้วกว่า สามเท่าตัวทีเดียว
คนรักงานอิสระมากขึ้น คนรู้ข้อมูลมากขึ้น ตระหนักและสำนึกดียิ่งกว่าเดิม มีทางเลือกมากมาย ตลาดส่วนใหญ่กลายเป็นตลาดที่รองรับการทำงานอิสระ คนเริ่มรู้ทางเลือกต่าง ๆ มากขึ้น และขัดขืนต่อการที่ฝ่ายบริหารจัดการขององค์กรพยายามที่จะตีตราให้ แต่คนส่วนใหญ่มุ่งมั่นที่จะ “สร้างแบรนด์” ให้กับตนเองมาก และจะยิ่งมากขึ้นเป็นลำดับ
การเปลี่ยนแปลงของโลกที่รุนแรง ขณะนี้เป็นภาวะของโลกการเปลี่ยนแปลง ทุกคนอาศัยบนโลก ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง และผกผันอย่างต่อเนื่อง ทุกคนต้องการสิ่งที่ช่วยในการชี้นำการตัดสินใจ แต่ละคนต้องเข้าใจอย่างละเอียดลึกซึ้งด้วยตนเองว่า จุดหมาย และหลักการที่เป็นเครื่องนำทางของทีมงานหรือองค์กรคืออะไร? หากยังพยายามที่จะบริหารจัดการคน คนก็จะไม่ฟังเสียงคุณ! เพราะคนเหล่านั้นเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ มากเกินกว่าจะฟังคุณ เขาเหล่านั้นต้องเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ ที่กระทบ ภาระความเป็นอยู่ ความรวดเร็วของปัญหาที่เกิดขึ้น และเปลี่ยนแปลงทุก ๆ วินาที ที่ไม่หยุดนิ่งให้ต้องรอ หรือทิ้งช่วงฟังคุณ
เห็นหรือยังครับ...ว่าสิ่งที่กำลังเกิด และจะเกิดในอนาคตนั้น เป็นกระแสที่พรั่งพรู ถ้าเปรียบสายธารของน้ำ ก็อยู่ระหว่างที่กระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกราก การที่องค์กรจะอยู่ได้นั้น และสามารถประคับประคองนาวาที่อาศัยอยู่ให้ถึงปลายทางได้อย่างรอดปลอดภัย ต้องอาศัยผู้ที่ถือหางเสือที่มีความรู้ ความชำนาญ ทักษะ และประสบการณ์ในองค์กรนั้น ๆ ลูกเรือเองก็ต้องมีการรวมกำลังให้พร้อมเพรียงเพื่อพายให้เรือฝ่าเกลียวคลื่นที่รวมกันซัดสาด ลูกแล้วลูกเล่า..อย่างต่อเนื่อง ไหนจะคลื่น ไหนจะลม ไหนจะฝน ต้องแบ่งแยกหน้าที่ให้ชัดเจน และพร้อมที่จะสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนหน้าที่กันได้ ในยามคับขันอย่างลงตัว สมดุล ชาญฉลาด และมีวินัย
เกลียวคลื่นที่สาดซัด แรงลมที่กรรโชกแรงบ้างเบาบ้าง สายฝนที่พร่างพรู เรือที่มีผู้คนอาศัยอยู่จำนวนมาก น้ำที่ขังอยู่ในเรือ เป็นภาระอันยิ่งใหญ่ของผู้ถือท้ายเรือ เฉกเช่นองค์กรในยามวิกฤต ผู้นำองค์กร ต้องเป็นผู้นำที่เพียบพร้อมด้วย ความซื่อสัตย์ สุจริต ทั้งวิธีคิด และการปฏิบัติ สื่อสารได้อย่างชัดเจน และสร้างความเข้าใจได้ง่าย ในภาวะวิกฤติไม่มีเวลาตีความ ไม่มีเวลาเข้าใจได้หลาย ๆ ประเด็น ต้องชัดเจน ชัดถ้อย ชัดคำ นำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตรงกัน มุ่งเน้นที่คน อย่ามองคนในเรือเป็นภาระ ทุกคนมีความสำคัญในระดับที่ต่างกันไป แต่ขาดคนใดคนหนึ่งไม่ได้ มีวิสัยทัศน์ มองต้องกว้าง มองให้รอบ คิดไปไกล ๆ อย่าคิดว่าวันนี้อยู่รอด วันข้างหน้า สามปี ห้าปี สิบปี จะเป็นอย่างไร? มีความเอื้ออาทรต่อคนในเรือ เพราะทุกคนเคยทุกข์ เคยสุข เมื่อยามถึงฝั่งอย่ามองคนนั้น คนนี้ไม่สำคัญ เพราะสุดท้าย ทุกคนก็จะมองคุณไม่สำคัญเช่นกัน ตัดสินใจต้องเก่ง แม่น และรวดเร็ว เพราะโอกาสที่เรือจะรอดจากเกลียวคลื่นแต่ละครั้ง สายฝนที่กระหน่ำ แรงลมที่กรรโชก ล้วนแล้วแต่มีเวลาสั้น ๆ ทั้งนั้น
ดังนั้นการตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลที่ชัดเจน ทันสมัย และมีหลักการเท่านั้น จะช่วยได้ การทุ่มเท การเสียสละ การมีวินัย เป็นแบบอย่างที่ทุกคนในเรือมองดูและพร้อมที่จะเชื่อฟังปฏิบัติตาม หากแบบอย่างผิดพลาด เรือทั้งลำก็อับปาง ในภาวะวิกฤตก็ดี ยามปกติก็ดี ผู้ถือท้ายเรือต้องเป็นนักสร้างแรงจูงใจให้กับลูกเรือ ยามวิกฤติที่เกลียวคลื่นถาโถม กำลังใจของลูกเรือ กำลังแกว่งโยน ผู้ถือท้ายเรือเท่านั้นที่ต้องแสดงให้เห็นว่าการทุ่มเทแรงกาย แรงสติปัญญา ส่งผ่านไปยังเขาเหล่านั้น การสร้างสิ่งเล้า การสร้างแรงจูงใจให้ฝ่าฟันมรสุมแต่ละครั้ง มันยิ่งใหญ่กว่ารอใครช่วยเหลือ ความเชี่ยวชาญของผู้นำ เป็นปัจจัยอันล้ำลึก จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความชาญฉลาดในทุกด้าน ลูกเรือคนไหนชำนาญอะไร สามารถใช้ได้ ถูกต้องถูกที่ ถูกทาง และถูกเวลา กล้าที่จะใช้ กล้าที่จะสั่ง กล้าที่จะบอก งานไหนที่ต้องการใครผู้นำต้องรู้ ต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ และท้ายที่สุด ในยามวิกฤตที่เกิดขึ้น หรือยามคลื่นลมสงบ อย่างไรเสีย ฝนยังตกพรำ ๆ ผู้นำต้องคิดคำนึงถึงทุกเรื่องอย่างบูรณาการ พัฒนาความฉลาดทางด้านปัญญา ด้วยการเรียน การสอน การศึกษา อย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ และมีวินัย การรู้จักตนเองให้มากขึ้น (การทำให้สมมุติฐานมีความชัดเจน) และการเรียนรู้ด้วยการสอนผู้อื่น การลงมือปฏิบัติ และสร้างนิสัย เชื่อหรือไม่ว่า ความล้มเหลวของการเป็นผู้นำ ร้อยละ 90 เกิดจากความบกพร่องทางลักษณะนิสัย... เริ่มคิดก่อน ทำก่อน ย่อมได้เปรียบ คิดก่อน ทำก่อนไม่รอบคอบ ไม่ครอบคลุมกลับเสียเปรียบ สองอย่างอยู่ใกล้กันมาก ดังนั้น การสร้างนิสัย คิดก่อน ทำก่อน ละเอียด รอบคอบ มีวินัย คิดเองได้เลย ทำเองได้เลย ลงมือเดี๋ยวนี้ที่ตัวเอง ไม่มีค่าสมัคร ไม่มีค่าเช่า ลงมือทำเถิดครับ!