วันอังคารที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551

“วิสาหกิจชุมชนโป่งตาลอง”อีกก้าว...ในการยกระดับสู่สากล

โดยชฎิล นิ่มนวล.

ช่วงกลางเดือนกันยายน 2551 ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน ได้จัดอบรมสัมมนาเชิงวิชาการให้กับ“วิสาหกิจชุมชนโป่งตาลอง”โดยบริษัท ไชน์โฟร์ท จำกัด และบริษัท สวิฟ จำกัด ได้ร่วมสนับสนุนทุนในการสัมนา 2 วัน วันแรกเป็นเรื่องของ “GLOBAL GAP สาระสำหรับชาวสวนยุคใหม่” บรรยาย โดย ดร.ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล และ ดร.ชวนพิศ อรุณรังสิกุล กลุ่มเครือข่าย GAP ภาคตะวันตก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน วันที่ 2 ช่วงเช้าเป็นเรื่อง “การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวผักและผลไม้” บรรยายโดย ศาสตราจารย์ ดร.จริงแท้ ศิริพานิช ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วงบ่ายเป็นเรื่อง “ของดินสำหรับการปลูกมะม่วง” บรรยายโดย ผศ.อรรถศิษฐ์ วงศ์มณีโรจน์ ภาคปฐพีวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปิดท้ายด้วยการทดลอง“วิทยาการหลังเก็บเกี่ยวมะม่วง” ที่นำผลผลิตจากวิสาหกิจชุมชนโป่งตาลอง สามารถยืดอายุมะม่วงเก็บรักษาได้ 4 สัปดาห์ และยังสามารถวางขายได้อีกไม่น้อยกว่า 5 วัน โดย ดร.อภิตา บุญศิริ และทีมงาน และยังได้รับความเมตตาจากท่าน ศ. ดร.จริงแท้ ศิริพานิช มาเป็นประธานในพิธีเปิด บรรยาย พร้อมตอบปัญหา ข้อซักถาม และร่วมรับประทานอาหารอย่างเป็นกันเองกับเกษตรกร นับเป็นเวลาสองวันเต็มที่เกษตรกรให้ความสนใจมากันอย่างครบถ้วน เพราะได้รับประโยชน์ที่สามารถนำไปพัฒนาตนเอง และกลุ่มให้ก้าวสู่มาตรฐานระดับสากลได้ จากที่พูดคุยกับเกษตรกร ก็ให้รู้สึกชื่นชมเกษตรกรตัวอย่างเหล่านี้ ที่ตั้งใจพัฒนาตนเองอย่างจริงจัง เปิดใจกว้าง พร้อมรับวิทยาการ และเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างกลมกลืน อยากให้กลุ่มต่าง ๆ นำมาเป็นแบบอย่างเพื่อก้าวสู้ระดับสากลอย่างมืออาชีพเหมือนวิสาหกิจชุมชนชาวโป่งตาลองครับ !
สิ่งที่ “วิสาหกิจชุมชนโป่งตาลอง” กำลังพัฒนาไปสู่ระบบสากลอีกขั้นหนึ่งนั้น เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้แต่ในประเทศเอง การแข่งขันของกลุ่มผู้ผลิตมะม่วงที่เป็นกลุ่มมืออาชีพด้วยกันก็มีการแข่งขันสูงอยู่แล้ว และยังจะต้องแข่งขันในระดับสากลจากต่างประเทศที่เป็นคู่แข่งที่ใช้วิทยาการ และเทคโนโลยี สมัยใหม่มาช่วย การอบรมเพื่อวางพื้นฐานในก้าวสู่สากลด้วยการเริ่มที่จะทำ GLOBAL GAP เพื่อพัฒนาผลผลิตให้ก้าวไกลขึ้นสู่ระดับสากล เพราะในที่สุดแล้วทุกประเทศในโลกจะต้องก้าวไปสู่จุดเดียวกัน ดังนั้นใครก้าวไปถึงจุดนั้นก่อนถือว่าได้เปรียบครับ..
อย่างที่บอกครับ... การแข่งขันไม่เฉพาะเรื่องของคุณภาพของผลผลิตที่สามารถสอบทวนย้อนกลับได้ ความปลอดภัย การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ชาวโป่งตาลองกลับมองเห็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกับรักษามรดกที่ธรรมชาติให้มาอย่างสมดุล นำมาสร้างเป็นขีดความสามารถหลัก(Core Competency) เพื่อให้เกิดความแตกต่างที่ยากต่อการลอกเรียนแบบให้เหนือกว่าคู่แข่งในภูมิภาคใด ๆ ในประเทศ และในโลก เขาเหล่านั้นกลับมองถึงอนาคตที่ทุกคนต้องรักษามรดกอันล้ำค่านั้นไว้ให้อยู่อย่างยั่งยืน ไม่ต้องการอพยพไปพื้นที่ใหม่ เหมือนกับที่อื่น ๆ กำลังเป็นอยู่ เหล่านี้เป็นวิธีคิดที่แยบยลที่ผมต้องขอปรบมือให้กับชุมชนชาวโป่งตาลอง คุณมนตรี ศรีนิล คุณมาลี ศรีนิล คุณไพฑูรย์ มาไพศาล คุณจำรูญ มาไพศาล รวมถึงคณะกรรมการ สมาชิกทุกคน รวมทั้งคุณช้อย สองเมือง ที่เริ่มมาเป็นสมาชิกใหม่ในกลุ่ม ด้วยความจริงใจครับ
เนื่องจากเนื้อที่มีจำกัดผมคงไม่เล่าเรื่องมากนัก เพียงต้องการจะนำเอาบทความของ ร.ศ. ดร.สุมิตตา ภู่วโรดม ซึ่งผมถือว่าเป็นอาจารย์ที่ผมเคารพนับถือมากที่สุดท่านหนึ่ง ท่านได้เขียนบทความเรื่อง ธาตุอาหารพืชกับไม้ผล สิ่งนี้ครับ ที่ผมบอกกับท่านผู้อ่านว่าเกษตรกรกลุ่มนี้มีจิต วิญาณที่จะปกป้องพื้นแผ่นดินที่เป็นมรดกที่สมบูรณ์ล้ำค่า ทั้งแร่ธาตุ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ เส้นทางการขนส่งที่ไม่ไกลจากศูนย์กลางของการขาย โดยให้ความสำคัญในการจัดการธาตุในดินให้เหมาะสม สมดุล ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมลองอ่านดูครับ ผมตัดเอาบางส่วนมาให้ท่านอ่านดูเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกับการอบรม หากมีโอกาสจะเอามาลงในครั้งต่อไป รวมทั้งของ ผศ.อรรถศิษฐ์ วงศ์มณีโรจน์ที่ พูดเรื่องดิน การตรวจสอบดิน ธาตุที่สำคัญในดิน รวมถึงความสำคัญของน้ำอย่างละเอียด เพื่อให้ทุกท่านที่ยังไม่เคยคิดถึงเรื่องเหล่านี้หันกลับมาดูเรื่องใกล้ตัว จัดการสิ่งต่าง ๆ อย่างชาญฉลาดบนพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ และเป็นปัจจุบัน บทความนี้ผมได้ ขออนุญาตท่าน นำมาลงให้เกษตรได้อ่าน ผมยังถามท่านต่ออีกว่า “หากเกษตรกรต้องการให้วิเคราะห์ดินและพืชจะได้หรือไม่? “ ท่านตอบว่าไม่ขัดข้อง ติดต่อท่านได้ที่ (ร.ศ.ดร.สุมิตตา ภู่วโรดม) ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520 โทร 326-6137 , 326-6052-101 ต่อ 330 หลายท่านอาจจะกลัวๆ... ท่านใจดีครับ! รับประกัน ไม่ผิดหวัง ท่านวิเคราะห์ทั้งธาตุหลัก ธาตุรอง และจุลธาตุ และบอกด้วยว่า จะใส่ธาตุต่าง ๆ อย่างไร เชื่อเถิดครับหากไม้ผล ได้รับสารอาหารครบถ้วน ไม่มาก ไม่น้อย หรือไม่สะสมจนเกิดเป็นภาวะต่าง ๆ ที่มีผลกระทบกับธาตุตัวอื่นจนเกิดเป็นปัญหาตามมา เมื่อผลไม้สมบูรณ์แข็งแรง ภูมิต้านทานโรคก็ดี ทุกวันนี้ใคร ๆ ก็ผลิตมะม่วงได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและถามใคร ๆ ก็ไม่ได้คำตอบ ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากความผิดพลาด และความไม่สมบูรณ์ของต้นไม้ที่ได้รับธาตุอาหารไม่ครบถ้วน ท่านลองอ่านดูครับ!
“จากอดีตที่ผ่านมา คำแนะนำการให้ปุ๋ยในไม้ผลที่มีการแนะนำ และอ้างอิงต่อกันมาเรื่อยๆนั้นนับว่าไม่ถูกต้องนัก เพราะในอดีต ไม่มีผลงานวิจัยที่ชัดเจนมาก่อนว่าไม้ผลที่ปลูกในเมืองไทยแต่ละชนิดมีความต้องการธาตุอาหารพืชอย่างไรบ้าง จึงได้มีคำแนะนำกลางๆ สำหรับการใส่ปุ๋ยไม้ผลทุกชนิด ทุกพื้นที่ ด้วยสูตรเดียวกัน เช่น ช่วงบำรุงต้น แนะนำให้ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ช่วงก่อนออกดอกแนะนำให้ใช้ปุ๋ยสูตรที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น 8-24-24 หรือ 9-24-24 ช่วงบำรุงผลแนะนำให้ใช้ปุ๋ยสูตรที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น 13-13-21 หรือ 12-12-27+2Mg ในเรื่องนี้ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการจัดการธาตุอาหารพืชได้กล่าวไว้ว่า พืชแต่ละชนิดจะมีความต้องการธาตุอาหารพืชที่แตกต่างกัน ดินปลูกไม้ผลแต่ละแหล่งมีองค์ประกอบ และคุณสมบัติของดินที่ต่างกันไป ดังนั้นคำแนะนำ การจัดการธาตุอาหารพืชจึงควรจะต้องแตกต่างกันไปด้วย ซึ่งวิธีการที่ตัดสินใจใช้ปุ๋ยหรือจัดการธาตุอาหารพืชอย่างถูกต้องนั้น ควรจะมีการตรวจวิเคราะห์ดินและพืช เพื่อให้ทราบสถานภาพที่แท้จริงว่า ดินมีธาตุอาหารแต่ละอย่างมากน้อยแค่ไหน และดินอยู่ในสภาพที่เอื้ออำนวยให้ธาตุอาหารที่มีอยู่เป็นประโยชน์ต่อพืชหรือไม่ แต่การวิเคราะห์ดินเพียงอย่างเดียวไม่สามารถบอกได้ว่าพืชจะดูดอาหารไปใช้ได้อย่างสมดุลย์หรือไม่ จึงมีความจำเป็นที่ต้องวิเคราะห์ใบพืชด้วย ประเด็นที่สำคัญที่นักวิจัยทุกรายได้กล่าวไว้สอดคล้องกัน คือ พืช (ไม้ผล) มีความต้องการฟอสฟอรัสในสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการไนโตรเจนและโพแทสเซียม การที่ชาวสวนไม้ผลใส่ปุ๋ยอัตรา 1:1:1 เช่นปุ๋ยสูตร 15-15-15 นั้นแสดงว่าใส่ฟอสฟอรัสมากเกินความจำเป็น มิหนำซ้ำในช่วงก่อนออกดอกยังมีการใส่ปุ๋ยสูตรที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น 8-24-24 หรือ 9-24-24 โดยที่ไม่เคยมีผลงานวิจัยใดๆพิสูจน์มาก่อนว่าฟอสฟอรัสมีบทบาทในการกระตุ้นการออกดอก ซึ่งการใส่ปุ๋ยที่ผิดดังกล่าวนอกจากจะทำให้สิ้นเปลืองเงินโดยใช่เหตุแล้ว ปุ๋ยฟอสฟอรัสที่มากเกินจำเป็นและเหลือตกค้างอยู่ในดินเป็นปริมาณมาก ก็จะไปจับกับจุลธาตุทำให้จุลธาตุอยู่ในรูปที่พืชดูดไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ พืชจึงแสดงอาการขาดจุลธาตุนั้นตามไปด้วย เกษตรกรก็แก้ปัญหาด้วยวิธีการให้ปุ๋ยทางใบแทน เป็นการเพิ่มต้นทุนยิ่งขึ้นไปอีก
จะเห็นว่าการจัดการธาตุอาหารพืชให้เหมาะสมเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก และสลับซับซ้อน การจัดการที่ไม่ถูกต้องจะทำให้เกษตรกร สูญเสียเงินซื้อปุ๋ย มีผลเสียต่อสุขภาพและการให้ผลผลิตของพืช และมีผลกระทบต่อคุณสมบัติของดินด้วย วิธีการแก้ปัญหาที่ดี คือ ควรมีการวิเคราะห์ดินและใบพืช เพื่อนำไปวางแผนใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เรื่องนี้จัดเป็นเรื่องใหม่ในวงการไม้ผลของไทย และในขณะเดียวกัน จำนวนห้องปฏิบัติการที่จะให้บริการตรวจวิเคราะห์ หรือจำนวนผู้เชี่ยวชาญที่จะให้คำแนะนำได้อย่างชัดเจน มีค่อนข้างน้อย ในสถานการณ์เช่นนี้จึงเห็นว่า การให้ความรู้และข้อมูลเป็นสิ่งที่จำเป็นในอันดับแรก เมื่อนักส่งเสริมและเกษตรกรมีความรู้และมีข้อมูลเพียงพอแล้วย่อมจะตัดสินใจเลือกวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมได้ ผู้ที่มีความพร้อมก็สามารถรับไปดำเนินการได้ทันที ส่วนผู้ที่ยังไม่มั่นใจหรือยังไม่มีความพร้อมด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม ก็อาจนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมของตนต่อไป ทั้งนี้ไม่ว่าเกษตรกร จะจัดการธาตุอาหารพืชในสวนไม้ผลด้วยวิธีการใดก็ตาม สิ่งที่ท่านจะต้องตระหนักอยู่เสมอคือ ต้นไม้ผลในสวนจะต้องมีความแข็งแรงสมบูรณ์และสามารถให้ผลผลิตในปริมาณและคุณภาพที่ดี ภายใต้การจัดการต้นทุนที่เหมาะสม
ความรู้เรื่องธาตุอาหารพืช ธาตุที่จัดเป็นธาตุอาหารพืชนอกเหนือจาก คาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน ซึ่งพืชได้จากอากาศและน้ำแล้ว อาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตของพืช ซึ่งพืชจะได้รับจากดินมีจำนวน 14 ธาตุ แบ่งตามปริมาณที่พืชต้องการ ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. ธาตุหลัก เป็นธาตุที่พืชต้องการในปริมาณมากและมักพบขาดแคลนในดินทั่วไป มี 3 ธาตุ คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม
2. ธาตุรอง เป็นธาตุที่พืชต้องการในปริมาณมากเช่นเดียวกับธาตุหลัก ซึ่งในอดีตมักไม่พบอาการขาดธาตุอาหารในกลุ่มนี้ แต่มาในปัจจุบันมีการใช้ปุ๋ยต่างๆมากขึ้น ดินมีสภาพเป็นกรดจึงมักพบอาการขาดธาตุรองนี้ ธาตุรองมี 3 ธาตุ คือ แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน
3. จุลธาตุ เป็นธาตุที่พืชต้องการในปริมาณเล็กน้อย แต่พืชขาดธาตุเหล่านี้ไม่ได้ มี 8 ธาตุ คือ เหล็ก ทองแดง สังกะสี แมงกานีส โบรอน โมลิบดีนัม คลอรีน และนิกเกิล
ในการจำแนกธาตุดังกล่าวนี้ กลุ่มธาตุหลักซึ่งพืชต้องการในปริมาณมาก และมักพบขาดแคลนในดินทั่วไป นั้น เป็นข้อยกเว้นสำหรับ ฟอสฟอรัส เนื่องจากพบว่า ในเนื้อเยื่อของพืชมีฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบอยู่น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับไนโตรเจน และโพแทสเซียม เนื่องจาก ในกระบวนการเจริญเติบโตของพืชทั้งทางด้านกิ่งก้านสาขา และการเจริญพันธุ์ มีธาตุอาหารหลายธาตุเข้าไปมีบทบาทร่วมกัน ดังนั้น ต้องยึดมั่นในหลักการว่า พืชต้องได้รับธาตุอาหารครบทุกธาตุแต่ละธาตุอย่างเพียงพอ และในปริมาณที่สมดุลกันเท่านั้น พืชจึงจะเจริญเติบโตได้ตามปกติ
ธาตุอาหารพืชฟอสฟอรัส ในดินมีกำเนิดมาจากการสลายตัวผุพังของแร่บางชนิดในดิน การสลายตัวของสารอินทรียวัตถุในดิน ก็จะสามารถปลดปล่อยฟอสฟอรัสออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืชที่ปลูกได้เช่นเดียวกับไนโตรเจน ดังนั้น การใช้ปุ๋ยคอกนอกจากจะได้ธาตุไนโตรเจนแล้วก็ยังได้ฟอสฟอรัสอีกด้วย ธาตุฟอสฟอรัสในดินที่จะเป็นประโยชน์ต่อพืชได้จะต้องอยู่ในรูปของอนุมูลของสารประกอบที่เรียกว่า ฟอสเฟตไอออน (H2PO4- และ HPO4-) ซึ่งจะต้องละลายอยู่ในน้ำในดิน สารประกอบของฟอสฟอรัสในดินมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ละลายน้ำยาก ดังนั้นจึงมักจะมีปัญหาเสมอว่าดินถึงแม้จะมีฟอสฟอรัสมากก็จริงแต่พืชก็ยังขาดฟอสฟอรัส เพราะส่วนใหญ่อยู่ในรูปที่ละลายน้ำยากนั่นเอง นอกจากนั้นแร่ธาตุต่าง ๆ ในดินชอบที่จะทำปฏิกิริยากับอนุมูลฟอสเฟตที่ละลายน้ำได้ ดังนั้นปุ๋ยฟอสเฟตที่ละลายน้ำได้เมื่อใส่ลงไปดินประมาณ 80-90% จะทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุในดินกลายเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำยากไม่อาจเป็นประโยชน์ต่อพืชได้ ดังนั้นการใส่ปุ๋ยฟอสเฟตจึงไม่ควรคลุกเคล้าให้เข้ากับดินเพราะยิ่งจะทำให้ปุ๋ยทำปฏิกิริยากับธาตุต่าง ๆ ในดินได้เร็วยิ่งขึ้น แต่ควรจะใส่แบบเป็นจุดหรือโรยเป็นแถบให้ลึกลงไปในดินในบริเวณรากของพืช ปุ๋ยฟอสเฟตนี้ถึงแม้จะอยู่ใกล้ชิดกับรากก็จะไม่เป็นอันตรายแก่รากแต่อย่างใด ปุ๋ยคอกจะช่วยป้องกันไม่ให้ปุ๋ยฟอสเฟตทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุในดินและสูญเสียความเป็นประโยชน์ต่อพืชเร็วจนเกินไป
พืชเมื่อขาดฟอสฟอรัสจะมีต้นแคระแกร็น ใบมีสีเขียวคล้ำ ใบล่าง ๆ จะมีสีม่วงตามบริเวณขอบใบ รากของพืชชะงักการเจริญเติบโต พืชไม่ออกดอกและผล พืชที่ได้รับฟอสฟอรัสอย่างเพียงพอจะมีระบบรากที่แข็งแรงแพร่กระจายอยู่ในดินอย่างกว้างขวาง สามารถดึงดูดน้ำและธาตุอาหารได้ดี การออกดอกออกผลจะเร็วขึ้น”
ในขณะที่ อรรถศิษฐ์ วงศ์มณีโรจน์ (2551: 11)ได้อธิบายเรื่องดินอย่างละเอียด พร้อมทั้งรับบริการเรื่องการตรวจสอบดิน มีชุดตรวจสอบดินไว้จำหน่ายใครสนใจก็สามารถติดต่อท่านได้ที่ ภาควิชาปฐพี คณะเกษตร กำแพงแสน โทร034-351 893 หรือ 089-110-5543 ซึ่งหากมีโอกาสจะนำบทความของท่านมาลงให้ได้อ่านกัน ในครั้งนี้ท่านสรุปไว้น่าสนใจดังนี้ “การปลูกมะม่วงให้ได้คุณภาพดี ควรใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับคุณภาพของดิน โดยเลือกใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพ เช่น การระบายน้ำ ระบายอากาศของดิน และยังมีส่วนเพิ่มธาตุอาหารพืชให้กับดินด้วยอีกทางหนึ่ง แม้ว่าปุ๋ยอินทรีย์จะมีธาตุปุ๋ยไม่เข้มข้นเท่าปุ๋ยเคมีก็ตาม ดังนั้นหากปุ๋ยอินทรีย์ไม่สามารถให้ธาตุอาหารได้เพียงพอกับความต้องการของมะม่วง เราจึงควรใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตรต่าง ๆ เพื่อบำรุงการเจริญเติมโตของมะม่วงในจังหวะ และอัตราที่เหมาะสม การปลูกมะม่วงจึงจะได้ผลดี และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในทางที่ดีด้วย”
เป็นอย่างไรครับ? ผมว่ารองปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่เถิดครับ ทุกครั้งที่ผมเดินทางไปพบเกษตรกร ทุกภาค ทุกพื้นที่ คำถามที่ผมถามก่อนบรรยาย คือ “ท่านเคยตรวจวิเคราะห์ดินและพืชหรือไม่” เชื่อหรือไม่ครับ 80 % ตอบเหมือนกันว่า “ไม่เคยเลย ตั้งแต่ปู่ย่าตายายมาแล้ว ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตรวจไปทำไม ตรวจที่ไหน” อีกสัก 15 % ตอบว่าตรวจเฉพาะค่าความเป็นกรดด่าง เท่านั้น ที่เหลือ ตรวจก็ตรวจแบบไม่สมบูรณ์ และไม่ได้เอามาใช้อย่างจริง ๆ จัง ๆ แล้วถามต่อว่า แล้วใส่ปุ๋ย กันอย่างไร คำตอบที่ได้รับก็คือ “ใส่ตามๆ กันมา ตามความเชื่อ หรือใครก็ไม่รู้แนะนำว่าให้ใส่กลาง ๆ ไปก่อน” ลองตรวจวิเคราะห์ดินและพืช ซึ่งดูเหมือนยาก สลับซับซ้อน มีค่าใช้จ่าย แต่ถามว่าคุ้มหรือไม่ รับประกันว่า สิ่งที่ได้เกินคุ้มครับ! ไม่ว่าจะทำให้ต้นทุนต่าง ๆ ลดลงอย่างน่าตกใจ ยิ่งถ้าสามารถควบคุมการใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ระยะเวลาในการใส่ ความรู้ความเข้าใจในการใส่ ผมเคยถามเกษตรกรว่าใส่ปุ๋ยอย่างไร? เกษตรกรตอบว่า “หว่านรอบ ๆ ต้น”

เห็นไหมครับ ว่า ปุ๋ยบางชนิด ระเหยได้ ระลายน้ำได้ดี หากว่าฝนตกก็ไหลไปไหนก็ไม่รู้ หรือหว่านไปตกอยู่บนวัชพืช หรือใบไม้ ก็ละเหยหมด เหล่านี้เป็นความรู้ที่เกษตรกรต้องเข้าใจอย่างท่องแท้ ลองดูเถอะครับ แล้วท่านจะเป็นเกษตรกรที่มีความแตกต่างจากเกษตรกรคนอื่นทั่วๆไปที่ยังเอาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน เพราะมี “อาชีพเป็นเกษตรกร” ปรับเปลี่ยนมาเป็น “เกษตรมืออาชีพ”เถอะครับ เปลี่ยนได้เลย เปลี่ยนเถอะครับ! ไม่มีค่าใช้จ่าย ใด ๆ ทั้งสิ้น ฟรีครับ!!!.
...........................................................................................................................
อ้างอิง : สุมิตตา ภู่วโรดม. ธาตุอาหารพืชกับไม้ผล [Online].Accessed 27September 2008. Available from
http://chumphon.doae.go.th/sara/tat.doc
: อรรถศิษฐ์ วงศ์มณีโรจน์. เอกสารประกอบคำบรรยายการฝึกอบรมวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวพืชสวน: ดินสำหรับการปลูกมะม่วง. 16 กันยายน2551

ไม่มีความคิดเห็น: